กรุงไทยการไฟฟ้าใช้คุกกี้ Cookie เพื่อสำรวจหน้าเว็บไซต์และสามารถวิเคราะห์การใช้งานเว็บไซต์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถส่งมอบบริการที่ดีที่สุดให้แก่ท่าน ทั้งนี้ กรุงไทยการไฟฟ้าจะไม่ใช้คุกกี้ทางเลือกจนกว่าท่านจะอนุญาตให้กรุงไทยการไฟฟ้า เปิดใช้งานคุกกี้ดังกล่าว โดยท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้จาก นโยบายการใช้คุกกี้ รายละเอียดนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | รายละเอียดนโยบายการใช้งานคุกกี้

Tips กระติกฮอทต้าชาร์ป



การใช้กระติกต้มน้ำร้อน ให้ประหยัดไฟฟ้า

  1. ถอดปลั๊กเมื่อเลิกใช้งานแล้ว ลดการสิ้นเปลืองพลังงาน ไม่ควรเสียบปลั๊กตลอดเวลา ถ้าไม่ต้องการใช้น้ำร้อนแล้ว แต่ถ้าต้องการใช้น้ำร้อนติดต่อกัน ไม่ควรดึงปลั๊กออกบ่อย ๆ เพราะเมื่อจะใช้งานใหม่ก็ต้องเสียบปลั๊กและเริ่มทำการต้มน้ำใหม่เป็นการสิ้นเปลืองพลังงาน
  2. การรักษาความสะอาดตัวกระติกไฟฟ้า อย่าให้มีตะกรันเกาะด้านในตัวกระติก เพราะจะทำให้สิ้นเปลืองไฟในการต้มมากกว่าเดิม ควรดูแลทำความสะอาดกระติกอย่างสม่ำเสมอ
  3. ไม่ควรนำน้ำที่มีความเย็นจัดมาต้มกับกระติกน้ำร้อนไฟฟ้า เพราะจะทำให้สิ้นเปลืองไฟเพิ่มขึ้นในการปรับอุณหภูมิของน้ำ ควรใช้น้ำอุ่นหรือน้ำที่อุณหภูมิห้อง

ข้อแนะนำในการชงชาจากใบชา

  1. อุณหภูมิน้ำร้อนที่ใช้ชงชาควรมากกว่า 90˚C เทน้ำร้อนล้างกาชาก่อน 1 ครั้ง เทน้ำทิ้งให้หมดกา แล้วจึงใส่ใบชาลงไป 1/3 ของกาชา ทิ้งไว้ 2-3 นาที (ไอน้ำที่ยังเหลืออยู่ในกาชาจะค่อย ๆ ปลุกใบชา เพื่อให้มีกลิ่นหอมขับออกจากใบชา)
  2. เทน้ำร้อนลงในกาชา น้ำร้อนจะทำให้ใบชาตื่นจากภวังค์อย่างเต็มที่
  3. เทน้ำร้อนให้เต็มกาชาแล้วทิ้งไว้ประมาณ 4 นาที จึงรินน้ำชาออกมาเก็บไว้ในเหยือกแก้วต่างหาก ควรรินน้ำให้หมดกา (ชาจะมีรสขม ถ้าทิ้งน้ำชงชาไว้ในกาชาเกินกว่า 4 นาที)
  4. รินชาจากเหยือกแก้วลงในถ้วยดื่ม ควรรินโดยยกเหยือกสูงกว่าถ้วย 1 ฟุต เพื่อให้น้ำชาได้รับออกซิเจนก่อนดื่ม จะทำให้รสชาติดีขึ้น
  5. ยกถ้วยขึ้นดมกลิ่น – ตาสังเกตดูสีของน้ำชา – (สีทองสำหรับชาอูหลง แต่จะมีสีเขียวอ่อนสำหรับชาเขียว) จากนั้นชิมให้ชื่นใจ

ที่มา: www.doichangtea.com

ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 สำหรับ กระติกน้ำร้อนไฟฟ้า

ฉลากประหยัดไฟ คือฉลากที่บ่งบอกระดับการใช้ไฟฟ้าและข้อมูลเบื้องต้นต่าง ๆ ของเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ประสิทธิภาพ ค่าใช้จ่ายต่อปี เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสมและประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว ฉลากประหยัดไฟจะมีระดับความประหยัดตั้งแต่เบอร์ 1 ถึงเบอร์ 5 โดยที่เบอร์ 5 หมายถึงประหยัดไฟมากที่สุด

โครงการกระติกน้ำร้อนไฟฟ้าเบอร์ 5 ดำเนินการครั้งแรกใน พ.ศ. 2553 โดยครอบคลุมกระติกน้ำร้อนทุกขนาด โดยรุ่นที่ผ่านการทดสอบและได้รับฉลากประหยัดไฟ เบอร์ 5 จะต้องมีค่าประสิทธิภาพพลังงานความร้อน ร้อยละ 95

ท่อนิรภัย (Safety pipe) คืออะไร

ท่อนิรภัย เป็นอุปกรณ์ติดตั้งพิเศษ ทำจากสเตนเลสไม่เป็นสนิมตลอดอายุการใช้งาน ช่วยป้องกันไม่ให้น้ำในกระติกแห้ง เมื่อทำการกดปุ่ม “PUMP” ขณะที่ระดับน้ำในกระติกต่ำกว่าระดับความสูงของท่อนิรภัย น้ำจะไม่ไหลออกจากท่อรินน้ำ ซึ่งเป็นการเตือนให้เติมน้ำในกระติก ท่อนิรภัยไม่ได้ถูกติดตั้งมาจากโรงงานผลิต ดังนั้นก่อนเริ่มใช้งาน ควรนำท่อนิรภัย (บรรจุอยู่ในซองพลาสติก) เสียบเข้าที่ท่อน้ำออก บริเวณก้นกระติกก่อน (ท่อนิรภัยจะมีในกระติกฮอทต้าชาร์ปเฉพาะรุ่น KP-Y32P, KP-Y40P)

เมื่อตัวกระติกด้านในเป็นคราบตะกรัน  คราบตะกรันเกิดขึ้นได้อย่างไร

เมื่อเราต้มน้ำในภาชนะ โดยเฉพาะในกระติกน้ำร้อน หรือ กาต้มน้ำ บางครั้งจะสังเกตว่ามีคราบขาว ๆ ลอยปะปนอยู่ในน้ำ และเมื่อทิ้งไว้จะตกตะกอนเป็นแผ่นคล้ายหินปูนเกาะอยู่กับภาชนะนั้น คราบเหล่านี้คือ "ตะกรัน" ตะกรัน คือ กลุ่มหินปูนจำพวกเกลือแคลเซียม แมกนีเซียมที่มากับน้ำ ที่เรานำมาต้ม ซึ่งมีอยู่ทั่วไปทุกแหล่งน้ำรวมทั้งน้ำประปา แต่อาจพบมากในน้ำบาดาล, น้ำฝน หรือน้ำที่มีแร่ธาตุแคลเซียม เมื่อมีการต้มน้ำและน้ำได้ระเหยกลายเป็นไอ ก็จะทิ้งหินปูนพวกนี้ก็จะตกตะกอนกลายเป็นตะกรัน

การล้างคราบตะกรันในกระติก

  • ใช้น้ำส้มสายชูผสมกับน้ำ (อัตราส่วน 1:1) เทลงในกระติกจนถึงระดับ FULL แล้วจึงเสียบปลั๊ก
  • ต้มน้ำจนเดือด ประมาณ 1 ชั่วโมง ถอดปลั๊กออกแล้วจึงเทน้ำทิ้งให้หมด ใช้ฟองน้ำถู แล้วล้างออกด้วยน้ำเปล่าให้สะอาด จนกว่ากลิ่นน้ำส้มสายชูจะหมดไป
  • ให้เติมน้ำ และเสียบปลั๊กต้มใหม่อีกครั้ง แล้วจึงเทน้ำทิ้งออกให้หมด ก่อนใช้งานปกติ

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับคุณภาพน้ำประปา สามารถดูรายละเอียดได้ที่ http://cwc.mwa.co.th/index.php?page=showarticle_tab.php

เลือกใช้ขนาดกระติกต้มน้ำร้อนให้เหมาะสมกับปริมาณการใช้น้ำร้อนในแต่ละวัน

ถ้าใช้น้ำร้อนไม่เกิน 5 แก้วต่อวัน ควรเลือกซื้อกระติกขนาด 1.6 ลิตรก็พอ ไม่จำเป็นต้องใช้ขนาดที่ใหญ่กว่านี้ เพราะเมื่อเทียบกับการใช้ไฟขณะต้มน้ำ 1 กระติก ขนาด 1.6 ลิตร จะใช้เวลาต้มน้ำประมาณ 10 นาที กินไฟประมาณ 30-35 สตางค์ ถ้าใช้น้ำร้อนประมาณ 10-12 แก้วต่อวัน ควรเป็นกระติกขนาด 2.8 ลิตร จะใช้เวลาต้มน้ำประมาณ 20 นาที กินไฟประมาณ 60-70 สตางค์

หมั่นตรวจระดับน้ำภายในกระติกจะเกิดผลดีกับผู้ใช้

การปล่อยให้ระดับน้ำในกระติกของท่านลดต่ำลงมาก ๆ โดยไม่เติมน้ำจะทำให้น้ำแห้งหมดกระติก เกิดการชำรุดเสียหายต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ ของเครื่อง เป็นเหตุให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมโดยไม่จำเป็น ทางที่ดีควรตรวจระดับน้ำอย่างสม่ำเสมอ