กรุงไทยการไฟฟ้าใช้คุกกี้ Cookie เพื่อสำรวจหน้าเว็บไซต์และสามารถวิเคราะห์การใช้งานเว็บไซต์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถส่งมอบบริการที่ดีที่สุดให้แก่ท่าน ทั้งนี้ กรุงไทยการไฟฟ้าจะไม่ใช้คุกกี้ทางเลือกจนกว่าท่านจะอนุญาตให้กรุงไทยการไฟฟ้า เปิดใช้งานคุกกี้ดังกล่าว โดยท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้จาก นโยบายการใช้คุกกี้ รายละเอียดนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | รายละเอียดนโยบายการใช้งานคุกกี้

Tips เตาอบไฟฟ้าชาร์ป



การเลือกการทำงานของไส้ความร้อน (Heat Selector) ของเตาอบใหญ่
การเลือก Heat Selector หรือการทำงานของไส้ความร้อนบน-ล่าง ของเตาอบ EO-19K, EO-28LP, EO-42K และ EO-70K ดังนี้

  • ไฟบน-ล่าง สำหรับอบเค้ก ขนมชิ้นเล็ก เช่น คุ้กกี้ ครัวซองค์ และใช้ในการอุ่นเตา
  • ไฟบน สำหรับผิงหน้าให้เกรียมเพิ่มขึ้น เช่น ท๊อฟฟี่เค้ก ลาซานญ่า เมอแรงค์
  • ไฟล่าง สำหรับเค้กปอนด์ ที่มีพิมพ์สูง และใหญ่ ซึ่งต้องการความร้อนจากด้านล่าง ดันเค้กให้ขึ้นฟูก่อน โดยไม่ต้องการความร้อนจากด้านบนมาทำให้ผิวหน้าของเค้กเซตตัวตึง ซึ่งจะทำให้เค้กขึ้นได้ไม่เต็มที่
  • พัดลมกระจายลมร้อน (ยกเว้นรุ่น EO-19K)  มักใช้คู่กับไฟบนล่าง เพื่อกระจายความร้อนให้ทั่วเสมอทั้งเตา ซึ่งนิยมใช้ในการอบอาหารคาวต่าง ๆ ประเภทเนื้อ ไก่ หมู ต่าง ๆ
การอุ่นเตาก่อนอบอาหาร
เตาอบไฟฟ้า รุ่น  EO-19K, EO-28LP, EO-42K และ EO-70K มีปุ่มปรับอุณหภูมิ สามารถตั้งอุณหภูมิได้สูงสุด 250 องศาเซลเซียส ซึ่งสามารถอบเบเกอรี่ อบอาหารชิ้นใหญ่ เช่น ไก่อบตั้งตัวได้ ซึ่งในการอบอาหารประเภทนี้ เราอาจจะได้พบขั้นตอนอยู่ขั้นตอนหนึ่งในการอบอาหาร ขั้นตอนนั้นคือ การอุ่นเตา
การอุ่นเตา คือ การทำให้อุณหภูมิภายในเตามีระดับความร้อนที่ต้องการก่อนอบอาหาร โดยปกติเราพบมากในการอบเบเกอรี่เป็นหลัก ขึ้นอยู่ว่าเป็นเบเกอรี่ประเภทไหน เช่น การอบขนมเค้ก ต้องอุ่นเตาไว้ที่ประมาณ 180 องศาเซลเซียส ขนมปัง ต้องอุ่นเตาไว้ที่ประมาณ 200 องศาเซลเซียส
การอบเบเกอรี่โดยไม่ได้อุ่นเตา หรือยังอุ่นไม่ได้ที่ ทำให้การขึ้นฟู ของเบเกอรี่นั้นไม่เต็มที่ หรือเกิดลักษณะยุบตัวได้
ขั้นตอนง่าย ๆ ของการอุ่นเตา
ก่อนใส่อาหารที่จะอบ ต้องตั้งอุณหภูมิที่ต้องการอบก่อน จากนั้นตั้งปุ่มปรับระดับความร้อนให้ใส้ความร้อนทำงานทั้งด้านบน และด้านล่าง และตั้งเวลาไว้ประมาณ 7-10 นาที สังเกตง่าย ถ้าไฟแสดงการทำงานบนเตาดับลงและต่อใหม่ แสดงว่าอุณหภูมิภายในเตาได้อุณหภูมิที่ต้องการ จากนั้นให้ใส่อาหารที่ต้องการอบ แล้วตั้งเวลาที่ต้องการอบอาหารนั้นอีกครั้ง
เคล็ดลับในการประกอบอาหารด้วยเตาอบไฟฟ้าชาร์ป
  1. ขนาดของชิ้นอาหาร ควรจะมีความหนาบางเท่าๆ กันในการอบแต่ละครั้ง
  2. การวางเรียงอาหารให้กระจายทั่วกัน ทั้งในถาดรอง หรือบนตะแกรง จะช่วยทำให้อาหารสุก ได้ทั่วถึงและเร็วขึ้น
  3. การนำอาหารเข้าอบต่อเนื่องกันหลายๆ ครั้ง ต้องใช้เวลาในการอบน้อยลงกว่าการนำเข้าอบครั้งแรก เพราะภายในเตาอบยังมีความร้อนสะสมอยู่
  4. ถ้าต้องการให้อาหารที่มีขนาดใหญ่และหนา สุก และเหลืองเกรียมได้ทั่วถึงกัน ควรห่ออาหารด้วยอลูมิเนียมฟอยด์ก่อนนำเข้าอบ และถ้าต้องการให้ผิวของอาหารเหลืองเกรียมมากขึ้น ให้แกะอลูมิเนียมฟอยล์ออก แล้วนำเข้าเตาอบอีกครั้ง
เทคนิคให้ถาดรองรับอาหารไม่เปื้อนคราบน้ำมัน
การปิ้ง ย่าง อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ มักจะมีน้ำมันจากอาหารไหลออกมาเปื้อนถาดรองรับอาหาร เมื่อมีความร้อนมากขึ้น น้ำมันจะเดือดเป็นคราบไหม้ติดอยู่กับถาด ทำความสะอาดได้ยาก วิธีที่จะลดปัญหาดังกล่าวได้คือ ให้นำถาดรองรับอาหารมาห่อหุ้มด้วยแผ่นอลูมิเนียมฟอยล์ หลังจากปรุงอาหารเสร็จแล้ว ให้ถอดแผ่นอลูมิเนียมฟอยล์ออกทิ้งไป ถาดรองรับอาหารจะดูใหม่ น่าใช้ตลอดไป
ภาชนะที่นำมาใช้กับเตาอบไฟฟ้าชาร์ป
ภาชนะที่นำมาใช้กับเตาอบไฟฟ้าชาร์ป ต้องเป็นภาชนะที่สามารถระบุว่าใช้กับเตาอบไฟฟ้าได้ เท่านั้น เนื่องจากเตาอบไฟฟ้า จะมีความร้อนสะสมขณะใช้งาน ซึ่งอุณหภูมิจะร้อนมากกว่า 100 องศาเซลเซียส ภาชนะไม่สามารถทนความร้อนจากเตาอบไฟฟ้าได้นั้น จะทำให้ภาชนะนั้นแตก หรือเสียรูปไป ภาชนะที่สามารถใช้กับเตาอบไฟฟ้าได้ ได้แก่
  • ภาชนะที่ทำจากโลหะ หรือ เหล็กหล่อต่าง ๆ
  • ภาชนะกระเบื้อง ที่ระบุว่าสามารถใช้กับเตาอบไฟฟ้าได้ เท่านั้น
  • ภาชนะแก้ว ที่ระบุว่าสามารถใช้กับเตาอบไฟฟ้าได้ เท่านั้น 
    (หมายเหตุ ภาชนะกระเบื้อง ภาชนะแก้ว ที่ระบุว่าใช้กับเตาไมโครเวฟได้ บางชนิดก็ยังไม่สามารถทนความร้อนของเตาอบไฟฟ้าได้ )

หากมีน้ำมันจากการอบเนื้อสัตว์ต่าง ๆ นองบนพื้นเตา ทั้ง ๆ ที่ใส่ถาดไว้เพื่อรองน้ำมันตลอดเวลา

อาการนี้ ไม่ผิดปกติอะไร ไม่ว่าเราจะอบแบบไหน ใช้ไฟธรรมดา หรือระบบลมร้อน เนื่องจากไอน้ำมันที่ลอยอยู่ในเตาจะเกาะติดตามผนังเตา แล้วค่อย ๆ ไหลลงพื้นเตา และเมื่อใช้งานบ่อยขึ้น ๆ จำนวนน้ำมันก็จะเพิ่มขึ้น ๆ โดยเฉพาะถ้าใช้ระบบลมร้อน จะสังเกตุได้ว่ามีปริมาณน้ำมันที่ไหลนองพื้นมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น ทุกครั้งที่ใช้เตาอบเสร็จแล้ว ควรทำความสะอาดในทันทีที่เตาเย็นแล้ว โดยใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นผสมน้ำยาทำความสะอาดจานชาม เช็ดบริเวณด้านนอก ด้านในเตาอบ และเช็ดซ้ำอีกครั้งด้วยผ้าหมาด สำหรับตะแกรงและถาดอบถ้ามีคราบไขมันติดแน่นมาก ให้แช่น้ำทิ้งไว้จนคราบนิ่ม แล้วล้างด้วยน้ำและน้ำยาล้างจานตามปกติ

เมื่อปรุงอาหารโดยไม่ใช้ถาดรอง จะมีน้ำในอาหารหยดลงบนไส้ทำความร้อน จะทำความสะอาดอย่างไร

ให้ใช้ฟองน้ำชุบน้ำสะอาดเช็คทำความสะอาด ขณะที่เตายังอุ่น ๆ อยู่ จะทำความสะอาดได้ง่ายกว่าปล่อยให้เตาเย็น แต่ถ้าติดคราบมาก ต้องใช้น้ำยาทำความสะอาด (น้ำยาล้างจาน, น้ำสบู่) อย่างไรก็ดี ท่านควรใช้ถาดเพื่อป้องกันเศษอาหารบางอย่างเกาะติดไส้ความร้อน ทำให้ประสิทธิภาพการใช้งานลดลง